แผ่นกรองอากาศ HEPA
แผ่นกรองอากาศ HEPA ตัวช่วยในการสร้างอากาศบริสุทธิ์
มีหลายคนสงสัยว่า แผ่นกรองอากาศ HEPA Filter ที่อยู่ในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ หรือเครื่องฆ่าเชื้อโรค มันคืออะไร ? ทำงานอย่างไร ? และแตกต่างกับแผ่นกรองอากาศแบบทั่วไปอย่างไร ? มารู้จักกันในบทความนี้กันเลย!!!
HEPA Filter คืออะไร ?
HEPA Filter หรือที่ย่อมาจากคำว่า “High Efficiency Particulate Air Filter” จัดเป็นแผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง ทำมาจากเส้นใยไฟเบอร์กลาส (Fiberglass) ถักทอจนมีขนาดที่เล็กมากๆ จนมันมีความสามารถ ในของการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กมากๆ (Small Particles) ได้เป็นอย่างดี สามารถดักจับฝุ่นที่มีอนุภาคเล็ก 0.3 ไมครอน ซึ่งเล็กกว่าฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างน้อย 99.97 % ด้วยวัสดุที่ทำจากเทคโนโลยีเส้นใยขั้นสูง ทำให้มั่นใจได้ว่าฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากๆ รวมไปถึงสิ่งสกปรกอื่นๆ เช่น ละอองเกสร ควัน หรือแม้แต่แบคทีเรียและเชื้อราที่ลอยอยู่ในอากาศ ก็จะถูกดักจับไว้
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถดักจับสิ่งสกปรกที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนไม่ได้ เพราะคุณสมบัติที่กล่าวนั้นเป็นเพียงเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการใช้คำว่า HEPA เท่านั้น ปัจจุบันก็มี HEPA Filter หลายเกรด ซึ่งบางเกรดก็สามารถกรองสิ่งสกปรกได้เล็กกว่านั้น
HEPA Filter มีกี่ชนิด ?
HEPA Filter นั้น ยังมีรายละเอียด ปลีกย่อยอีกมากมาย โดยทางสหภาพยุโรป (European Union) ได้มีการจำแนกคลาส ในมาตรฐานยุโรป (European Standard) อย่าง EN 1822:2009 ย่อยลงไปอีกกว่า 8 คลาสด้วยกันเลยทีเดียว
- E10 กรองฝุ่นละอองได้ 85% (ฝุ่นละอองมีโอกาสผ่านแผ่นกรองออกไปได้ 15%)
- E11 กรองฝุ่นละอองได้ 95% (ฝุ่นละอองมีโอกาสผ่านแผ่นกรองออกไปได้ 5%)
- H12 กรองฝุ่นละอองได้ 99.5% (ฝุ่นละอองมีโอกาสผ่านแผ่นกรองออกไปได้ 0.5%)
- H13 กรองฝุ่นละอองได้ 99.95% (ฝุ่นละอองมีโอกาสผ่านแผ่นกรองออกไปได้ 0.05%)
- H14 กรองฝุ่นละอองได้ 99.995% (ฝุ่นละอองมีโอกาสผ่านแผ่นกรองออกไปได้ 0.005%)
จะเห็นได้ว่ายิ่งเป็นแผ่นกรองที่มีเกรดสูงมากเท่าไหร่ ความละเอียดในการกรองก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นหากคุณต้องการปลอดภัยจากอันตรายของฝุ่นจิ๋ว การเลือกแผ่นกรอง HEPA Filter (H13-H14) ก็จะถือว่าตอบโจทย์ที่สุด
แล้ว HEPA Filter มีประโยชน์อย่างไร ?
ข้อดีหลักๆ คือ เป็นตัวช่วยในการสร้างอากาศบริสุทธิ์ ในบริเวณที่มีการใช้งาน ด้วยการลดจำนวนสิ่งสกปรก และสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอากาศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้คุณ และคนในครอบครัว ห่างไกลจากอันตราย และโรคร้ายที่จะตามมาจากฝุ่นหรือสิ่งสกปรกต่างๆ เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ หรือโรคร้ายต่างๆในระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
HEPA Filter ทำงานอย่างไร ?
แบบเข้าใจง่ายๆ คือเมื่อมีอากาศที่กำลังจะผ่านแผ่นกรองไป เส้นใยทำผสานกันอย่างหนาแน่นก็จำทำหน้าที่เป็นเหมือนกำแพงหลายๆ ด่าน เพื่อไม่ให้สิ่งที่ปนเปื้อนมากับอากาศหลุดรอดไปนั่นเอง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของสิ่งสกปรกที่ปกเปื้อนมากับอากาศด้วย เพราะมันก็จะถูกดับจับในวิธีที่ต่างกัน 4 รูปแบบ
- การชน (Direct Impaction) : เป็นวิธีที่สิ่งสกปรกขนาดใหญ่ เช่น ฝุ่น เกสรดอกไม้ หรือเชื้อราบางชนิด ลอยมาชน และติดเข้ากับเส้นใยของแผ่นกรองโดยตรง
- การคัดกรอง (Sieving) : ในกรณีที่สิ่งสกปรกเหล่านั้นไม่ได้มาชนเส้นใยโดยตรง แต่ด้วยความหนาแน่นของเส้นใยในแผ่นกรอง ทำให้ช่องว่างระหว่างเส้นต่อเส้นมีน้อย ฝุ่นหรือสิ่งสกปรกขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ลอยมาชน ก็จะไม่สามารถผ่านช่องว่างนั้นไปได้
- การสกัดกั้น (Interception) : กลไกการสกัดกั้นคือ เมื่อฝุ่นหรือสิ่งสกปรกที่มีขนาดเล็ก เคลื่อนไปตามการไหลเวียนของอากาศที่รวดเร็ว ก็อาจจะทำให้มันสามารถเคลื่อนไหวอ้อมเส้นใยด่านแรกๆ ไปได้ แต่ด้วยความหนาแน่นของเส้นใย และแรงเฉื่อย สุดท้ายสิ่งสกปรกขนาดเล็กเหล่านั้นก็จะติดกับด้านข้างของเส้นใย
- การแพร่ (Diffusion) : ฝุ่น และสิ่งสกปรกที่มีขนาดเล็กมาก เช่น ที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มักจะมีเส้นทางการเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นทิศไม่เป็นทาง ทำให้พวกมันมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวไปชน และติดกับเส้นใยด้วยตัวเอง
การดูแลรักษาแผ่นกรอง HEPA Filter
โดยปกติแล้วแผ่นกรอง HEPA Filter จะมีอายุการใช้งานประมาณ 4-5 ปี แต่ในความเป็นจริง ถ้าคุณมีการใช้งานมันเป็นประจำทุกวัน ก็ควรหมั่นทำความสะอาด หรืออาจจะต้องเปลี่ยนใหม่เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุด
ในการทำความสะอาด เนื่องจากส่วนใหญ่แล้ว HEPA Filter มักจะทำมาจากวัสดุไฟเบอร์กลาส (Fibeglass) ดังนั้นมันจึงไม่สามารถทำความสะอาดได้ด้วยการซักล้าง และใช้ผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ เพราะมันอาจจะทำลายเส้นใยของแผ่นกรองได้ แต่คุณสามารถทำความสะอาดได้โดยการใช้แปรงปัดฝุ่นที่อยู่ตามร่อง และเคาะเบาๆให้ฝุ่นหลุดออกมาจากแผ่นกรอง
ทั้งนี้ ถ้าคุณเห็นว่าแผ่นกรองอากาศเริ่มดำจนแทบจะไม่มีพื้นที่ที่เป็นสีขาวแล้ว ก็ควรที่จะเปลี่ยน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วคนส่วนใหญ่มักจะเปลี่ยนทุก 1-2 ปี