ทำไม? อากาศร้อนอบอ้าว ก่อนฝนตก
เริ่มเข้าหน้าฝนแล้ว แต่อย่าเพิ่งดีใจไปว่าหมดร้อนสักที เพราะสิ่งที่จะเจอในหน้าฝนก็คือ อากาศร้อนอบอ้าว ช่วงก่อนฝนตกนั่นเอง อากาศร้อนพอ ๆ กับอากาศในหน้าร้อนเลย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อย และอากาศร้อนแบบนี้ ทำให้อึดอัด เหนียวตัว ไม่สบายตัว ปัญหานี้เกิดจากสาเหตุอะไร แล้วมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง มาดูในบทความนี้กัน
สัญญาณแบบนี้ ฝนตกแน่นอน!!
- อากาศร้อนอบอ้าว เหนียวตัว
- ท้องฟ้ามืดครึ้ม มีเมฆมาก
- ลมสงบ หรือลมอ่อนๆ
- สัตว์ป่าบางชนิด เช่น นก จะบินไปมาอย่างกระวนกระวาย, มด จะเคลื่อนย้ายจากที่ต่ำขึ้นที่สูง
- ความกดอากาศที่ลดลงกะทันหัน
- เสียงฟ้าร้อง หรือฟ้าแลบ
สาเหตุที่เกิดอากาศร้อนอบอ้าวก่อนฝนตก เกิดขึ้นเนื่องจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธรรมชาติหลายประการ ดังนี้
ความชื้น – ก่อนที่ฝนจะตกนั้น จะมีการสะสมของความชื้นในอากาศ ทำให้รู้สึกว่าอากาศร้อนอบอ้าว และเนื่องจากความชื้นที่สูงทำให้เหงื่อของเราระเหยได้ยากขึ้น เพราะปกติแล้ว เมื่อร่างกายร้อน เหงื่อจะระเหยออกจากผิวหนัง ทำให้ร่างกายระบายความร้อนออกมา แต่เมื่ออากาศมีความชื้นสูง เหงื่อก็จะระเหยได้ช้าลง จึงส่งผลให้ความร้อนสะสมอยู่ในร่างกาย ทำให้เรารู้สึกร้อนอบอ้าว เหนียวตัว ไม่สบายตัว
ความกดอากาศต่ำ – เมื่อความชื้น และความร้อนสะสมมากพอ อากาศจะเริ่มลอยตัวขึ้นไปสูง จึงสร้างแรงกดอากาศต่ำที่พื้นดิน แรงกดอากาศต่ำนั้นมักจะเป็นสัญญาณของพายุฝนที่กำลังจะเกิดขึ้น และทำให้อากาศยิ่งร้อนอบอ้าว
การสะสมความร้อน – อากาศร้อนที่ลอยตัวขึ้นมาผสมกับอากาศชื้นที่อยู่บนพื้นดิน ทำให้เกิดสภาพอากาศที่อบอ้าวและไม่สบายตัว เมื่ออากาศร้อนขึ้นไปสูงขึ้น ก็จะเย็นลงและเกิดการควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำ เกิดเมฆและฝนตามมา
เมฆ – เมฆเกิดจากการยกตัวของอากาศร้อนขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ เมื่ออากาศร้อนลอยตัวขึ้น มันจะเย็นลงและเกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำกลายเป็นเมฆ กระบวนการนี้ทำให้ความร้อนสะสมในชั้นบรรยากาศล่าง จึงทำให้อากาศร้อนอบอ้าว
ลมที่นิ่ง และไม่มีการถ่ายเทอากาศ – ก่อนที่ฝนจะตก ลมมักจะนิ่งและไม่มีการถ่ายเทอากาศมากนัก ทำให้ความร้อนสะสมอยู่ในพื้นที่นั้นโดยไม่ถูกระบายออกไป ทำให้อากาศรู้สึกอับและอบอ้าวมากขึ้น
ความชื้นสูงส่งผลต่อร่างกายอย่างไร ?
เหงื่อระเหยได้ยาก – เมื่อความชื้นในอากาศสูง เหงื่อที่ร่างกายเราขับออกมานั้นจะระเหยได้ยากขึ้น เนื่องจากอากาศรอบตัวเราอิ่มตัวไปด้วยไอน้ำแล้ว ทำให้ความร้อนจากร่างกายไม่สามารถระบายออกได้ ทำให้เรารู้สึกอับชื้นและร้อนอบอ้าว
ความรู้สึกอึดอัด – ความชื้นที่สูงทำให้เราหายใจไม่สะดวก รู้สึกอึดอัด และเหนื่อยง่ายขึ้น
ระคายเคืองผิวหนัง – เหงื่อที่สะสมบนผิวหนังจากความชื้นสูงสามารถทำให้เกิดผดร้อน ผื่น หรือการระคายเคืองผิวหนัง โดยเฉพาะในบริเวณข้อพับหรือใต้รักแร้
หายใจลำบาก – เมื่ออากาศมีความชื้นสูง อากาศจะหนาแน่นและชื้นมากขึ้น ทำให้หายใจยาก โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคปอด
วิธีแก้ปัญหาในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าว
การเลือกสวมใส่เสื้อผ้า – สวมใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าบางเบา ใส่สบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป ระบายอากาศ และเหงื่อได้ดี
อาบน้ำเย็น – เพื่อช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย ให้เรารู้สึกเย็น และสบายตัวขึ้น
ดื่มน้ำเย็น – เพื่อชดเชยน้ำจากการสูญเสียเหงื่อ และป้องกันไม่ให้ร่างกายช็อกจากการขาดน้ำ
ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น – ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว หรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นวางบนหน้าผาก หลังคอ เพื่อลดความร้อนในร่างกาย
เปิดประตู หน้าต่าง – เพื่อให้อากาศในห้องนั้นๆ ถ่ายเทได้สะดวก
หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปล่อยความร้อน – เช่น เตาอบ ไมโครเวฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ปล่อยความร้อนมาก
เปิดพัดลมไล่อากาศ – ช่วยดูดอากาศที่ร้อนอบอ้าว ภายในห้องออกไปนอกห้อง และยังช่วยให้อากาศในห้องไหลเวียนได้ดี
ใช้พัดลมไอเย็น – ช่วยลดอุณหภูมิในบริเวณนั้นๆได้ดี อากาศเย็นสบาย ไม่เหนียวตัว ที่สำคัญประหยัดกว่าใช้เครื่องปรับอากาศหลายเท่า
กินอาหารที่ช่วยคลายร้อน – เลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและให้ความสดชื่น เช่น ผลไม้ที่มีน้ำเยอะ แตงโม, แตงกวา หรือสลัดผัก
โดยส่วนมากแล้ว อากาศร้อนอบอ้าวในช่วงก่อนฝนตกนั้น มันจะเกิดขึ้นในช่วงบ่าย เพราะอุณหภูมิพื้นผิวที่สูงขึ้น และความชื้นในอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดทั้งวัน แต่ใดๆก็ตาม หลังฝนตกแล้วอากาศที่ร้อนก็มักจะหายไป เพราะความร้อนถูกดูดซับไปกับน้ำฝน และไอน้ำในอากาศระเหยขึ้นไป จึงทำให้อากาศเย็นลง
รู้สึกไม่สบายตัวครั่นเนื้อครั่นตัว เหนียวตัวสุดๆแบบนี้ ต้องมีตัวช่วย!!!
พัดลมไอเย็น เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้หลักการระเหยของน้ำเพื่อช่วยลดอุณหภูมิและเพิ่มความชื้นในอากาศ ทำให้อากาศเย็นลง และรู้สึกสบายขึ้น ช่วยเปลี่ยนอากาศร้อนอบอ้าว ให้เป็นลมเย็นสบาย เย็นฉ่ำ ประหยัดพลังงาน และประหยัดไฟกว่าแอร์ เหมาะกับพื้นที่เปิดหรือพื้นที่กึ่งเปิดกึ่งปิด เช่น ห้องที่เปิดประตูหรือหน้าต่าง สนาม ระเบียง คลังสินค้าแบบเปิด เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนอากาศ ลดการสะสมความชื้น